จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา พ.บ. | แพทย์สาขาโรคระบบทางเดินอาหาร
บทนำ
ปัจจุบันนี้เราจะพบว่า มีคนเป็นโรคลำไส้แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่มีอาการปวดท้องเป็นๆหายๆ หรือ ถ่ายอุจจาระเหลวหรือท้องเสียง่ายเวลากินอาหารเผ็ด เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนเกือบทั้งนั้น ดังนั้นเราควรจะมาดูกันว่า โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคอะไรกันแน่ มีการประมาณไว้ว่าร้อยละ 10-20 ของประชาชนเป็นโรคนี้ หรือประมาณได้ว่ามีคนที่เป็นโรคนี้ทั้งประเทศอาจพบมากถึง 6-10 ล้านคน โดยผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย แล้วโรคนี้จะแย่มากไหม?
ถึงแม้ว่าโรคลำไส้แปรปรวนทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่สบายรำคาญท้อง หรือก่อให้เกิดความเครียด และบางครั้งมีผลต่อการทำงานหรืออารมณ์หงุดหงิด และเป็นโรคเรื้องรังอาจไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยโรคนี้ยังโชคดีที่โรคนี้ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติของลำไส้อย่างถาวร เป็นโรคไม่อันตราย และไม่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคลำไส้แปรปรวนคืออะไร
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ซึ่งได้แก่ ปลายลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ จากการทำงานตามปกติกลายเป็นการบีบตัวที่มากเกินไป มีอาการไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารที่มีรสเผ็ด ชากาแฟ หรือ ไวต่อความเครียด ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มีอาการปวดเกร็งหรือแน่นอึดอัดท้อง ท้องอืดแน่น บางครั้งคล้ายๆ กับมีลมมากในท้อง ทั้งๆ ที่ไม่มีลมมากผิดปกติ นอกจากนี้ยังทำให้การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ คือ อุจจาระมีขนาดเล็กลง เป็นก้อนแข็งขึ้น หรือเป็นก้อนเล็กๆ สั้นๆ เนื่องจากการบีบรัดของลำไส้ใหญ่ หรืออาจเกิดมีอาการท้องถ่ายบ่อยขึ้นหรือถ่ายเหลวกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการบีบของลำไส้ก็ได้เช่นกัน
ทางการแพทย์แบ่งโรคนี้ออกเป็นชนิดต่างๆ ตามอาการหลักของผู้ป่วย คือ แบ่งออกเป็นชนิดท้องผูก(ถ่ายยาก) ชนิดท้องเสีย(ถ่ายบ่อย) หรือชนิดที่เป็นทั้งสองอย่าง ซึ่งอาการชนิดต่างกันทั้งหมดนี้เกิดจากโรคเดียวกัน คือ โรคลำไส้แปรปรวน อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องแยกโรคกับโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายๆ กัน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังบางชนิด
ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆหายๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน มีการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีอาการนานมากกว่า 20 ปี จึงถือว่าโรคนี้เป็นโรคประจำตัวโรคหนึ่งที่ไม่หายขาด เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
สาเหตุและอาการของโรคลำไส้แปรปรวน
สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร
โรคลำไส้แปรปรวนมีความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ที่ทำให้มีความไวต่ออาหารบางชนิดและไวต่อความเครียด ความกังวล อาการของโรคจะเป็นมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้นถ้ากินอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด ชากาแฟ เหล้าหรือบุหรี่ รวมทั้งการกินอาหารมากเกินไป หรือกินอาหารผิดเวลาบ่อยๆ
สาเหตุที่เกิดอาการตอบสนองไวกว่าปกตินั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยเด็ก มีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งระบบภูมิต้านทานโรคที่ผนังลำไส้ผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้ ผู้ป่วยบางส่วนเท่านั้นที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยตามที่กล่าว
เนื่องจากสาเหตุที่ชัดเจนไม่แน่นอน ดังนั้น การแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่ก็ยังดีที่โรคนี้ไม่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง หรือการเกิดมะเร็งลำไส้
อาการและการวินิจฉัยโรค
ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมีอาการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อาการปวดหรือแน่นท้องไม่สบายท้อง อาการของการขับถ่ายที่ผิดปกติ และเป็นเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน (ดูตารางที่ 1) ถ้าคนไหนที่มีอาการครบสามกลุ่มดังกล่าวนี้มีโอกาสเป็นโรคลำไส้แปรปรวนสูง การที่ผู้ป่วยมีอาการมานานกว่า 6 เดือนโดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ ที่รุนแรงทำให้โอกาสเป็นโรคร้ายแรงน้อยลงมาก
ลักษณะอาการโรคลำไส้แปรปรวน |
1. ปวดท้องปวดเป็นพักๆปวดมวนท้องแน่นอืดท้องอีกอัดมีลมมากรำคาญ |
2. ลักษณะและการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติเช่น – อุจจาระลำบากท้องผูกหรือท้องเสีย – ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไปถ่ายเหลวๆหรือเป็นก้อนแข็งขนาดเล็กลงหรือมีมูกปน – อาการมักจะดีหรือแย่ลงหลังการถ่ายอุจจาระหรือถ่ายอุจจาระไม่สุด |
3. เป็นๆหายๆมานานกว่า 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องมีอาการทุกวัน |
4. ไม่มีอาการของโรคร้ายแรงได้แก่อุจจาระมีเลือดมีน้ำหนักตัวลดลงซีดผิดปกติมีก้อนในท้องมีไข้ปวดท้องรุนแรงหรือตลอดเวลาฯลฯ |
ผู้ที่มีอาการน้อยกว่า 6 เดือน หรือเริ่มจะเป็นได้ไม่นาน และนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด เพราะอาจไม่ใช่โรคลำไส้แปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มาอายุมากกว่า 45 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนอายุน้อย
เมื่อผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวนทุกคนควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การวินิจฉัยของแพทย์ที่สำคัญที่สุดคือการซักรายละเอียดของอาการป่วยร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด แพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาก่อนที่จะแนะนำการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ
การวินิจฉัยด้วยการตรวจพิเศษใดๆ ก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงเป็นเพียงการสืบค้นหาโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการเหมือนโรคลำไส้แปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นหาโรคร้ายแรง
แนวทางที่แพทย์จะวินิจฉัยโรค(อยู่ในรูป) โดยแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคร้ายแรงหรือไม่ เช่น ตัวอย่างอาการในข้อ 4 (ในตาราง) หรือมีอายุ 45 ปีหรือมากกว่า แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทันที ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคร้ายแรงและอายุน้อยกว่า 45 ปี แพทย์มักจะให้การรักษาโรคลำไส้แปรปรวนโดยไม่จำเป็นต้องทำการตรวจใดๆ เพิ่มเติม ถ้าอาการดีขึ้นหลังรับยาก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตรวจเพิ่มเติมใดๆ
คนไข้บางรายแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม คือ การตรวจอุจจาระ และการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องหรือเอกซ์เรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยคอมพิวเตอร์ ในโรงพยาบาลบางแห่งที่ไม่สามารถตรวจด้วยเครื่องมือดังที่กล่าวมาอาจตรวจด้วยการทำเอกซ์เรย์สวนแป้งทึบแสงแทนก็ได้(มีความไวน้อยกว่าสองวิธีแรก) อนึ่ง การตรวจลำไส้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 45 ปีนั้น เน้นการตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ระยะแรก ซึ่งพบบ่อยมากขึ้น
แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้แปรปรวน
การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมากถึงร้อยละ 70 ไม่ได้ไปพบแพทย์ เนื่องจากคิดว่าไม่เป็นปัญหา หรือคิดว่าตัวเราเป็นปกติแบบนี้เอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นๆหายๆ มานานก่อนที่จะไปพบแพทย์ และส่วนหนึ่งไปเมื่อมีอาการมากขึ้น พอหายดีก็จะไม่ไปติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาการก็จะเกิดขึ้นใหม่ ตามที่กล่าวแล้วเป็นโรคนี้คือเป็นโรคที่ไม่หายขาด
การดูแลผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนให้ได้ผลดีที่สุด ขึ้นอยู่กับความร่วมมือที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย แพทย์สั่งยาเพื่อลดอาการของผู้ป่วยซึ่งอาจทำให้อาการดีขึ้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นส่วนของผู้ป่วยที่ต้องร่วมมือกับแพทย์ในการดูแลตนเองในการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันที่ทำให้อาการไม่กำเริบขึ้น เช่นการดูแลเรื่องอาหาร การลดความเครียด และที่สำคัญต้องเข้าใจว่าอาการอาจเป็นๆหายๆ แม้ขณะที่ได้รับยา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน และผู้ป่วยต้องมีความเชื่อมั่นว่า โรคนี้เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงเพียงแต่ทำให้เกิดแค่อาการเท่านั้น
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน ประกอบไปด้วยยากลุ่มต่างๆ ที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เช่น ยาเพิ่มใยอาหารในลำไส้ซึ่งจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ยาลดอาการปวดท้องโดยออกฤทธิ์ลดการบีบของลำไส้ ยาเพิ่มน้ำในลำไส้เพื่อให้อุจจาระนิ่มลง หรือยาลดการถ่ายอุจจาระ เป็นต้น ยาที่แพทย์ใช้กับผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นกับอาการและการตอบสนองของผู้ป่วย ยาที่ได้ผลต่อผู้ป่วยคนหนึ่งๆ อาจไม่ได้ผลต่อผู้ป่วยอีกคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้นการใช้ยาจึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกหรือถ่ายยากบางคนรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาถ่ายมากินเป็นประจำ ยาในกลุ่มที่เรียกว่ายาถ่าย สามารถใช้เป็นครั้งคราวได้ แต่ถ้าต้องการใช้เป็นเวลานานๆ จะมีผลเสียต่อลำไส้ใหญ่ ผลเสียของยาถ่ายที่พบบ่อยคืออาการดื้อยาและบางครั้งต้องเพิ่มขนาดของยาขึ้นเรื่อย จาก 1-2 เม็ดอาจมากขึ้นเป็นมากกว่า 10 เม็ดจึงจะได้ผล การใช้ยาขนาดสูงอาจทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้ บางครั้งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ซึ่งมีผลทำให้ลำไส้ใหญ่ทำงานลดลง
ผู้ป่วยบางคนอาจชอบทำการสวนล้างลำไส้ เนื่องจากทำแล้วอาการดีขึ้น(detox) แต่เป็นการดีขึ้นชั่วคราว หลังจากนั้นก็เป็นเหมือนเดิม และที่สำคัญการสวนอุจจาระที่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดโรคแทรกที่เป็นอันตรายรุนแรง เช่นเกิดแผลในลำไส้ ลำไส้อักเสบ อุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น ทั้งนี้คนไข้จะไม่มีอาการปวดเจ็บใดๆ ถ้าเกิดแผลในลำไส้จากการสวนล้างอุจจาระที่ไม่ถูกวิธี
การดูแลตนเองมีวิธีอย่างไรบ้าง
นอกจากการใช้ยาแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพของตนเองมีความสำคัญในการรักษาโรคนี้มาก หลักการดูแลตนเอง อาจแบ่งออกได้เป็นดังนี้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร
ผู้ป่วยหลายคนพบว่า การกินอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด อาหารมัน หรือชากาแฟ ทำให้อาการเป็นมากขึ้น และการดูแลการกินอาหารทำให้อาการดีขึ้นได้เช่นกัน อาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด กินผิดเวลา กินอาหารอิ่มมากเกินไป ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ หรืออาหารมันๆ นมสดทำให้อาการกำเริบขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาด้วยยา และรวมกับการหลีกเลี่ยงอาหารตามที่กล่าวทำให้อาการดีขึ้น มากกว่ายาเพียงอย่างเดียว
ผู้ป่วยหลายคนพบว่าการกินอาหารพวกผักผลไม้ที่มีใยอาหารมากๆ ทำให้อาการดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการท้องผูกจะดีขึ้นเพราะใยอาหารทำให้อุจจาระเป็นก้อนและมีน้ำมากขึ้นช่วยทำให้การขับถ่ายง่ายขึ้น แต่ใยอาหารอาจไม่ได้ช่วยผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียถ่ายเหลวบ่อยหรือมีอาการปวดท้อง แต่ถ้าเพิ่มอาหารที่มีใยร่วมกับการใช้ยาที่แพทย์สั่งก็สามารถลดอาการได้ดีกว่ายาอย่างเดียว ดังนั้นการกินอาหารที่มีใยอาหารถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้อาการดีขึ้น ข้อเสียของการกินใยอาหารจำนวนมาก คือ อาจทำให้เกิดอาการแน่นอืดท้อง มีลมมาก ซึ่งมักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของการกินยา และอาการดังกล่าวจะหายไปใน 2-3 สัปดาห์
ผู้ป่วยควรกินน้ำมากขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยถ่ายอุจจาระลำบากหรือท้องผูกและกลุ่มที่มีท้องเสีย
ลดความเครียดในชีวิตประจำวัน
ความเครียดความกังวลมีส่วนทำให้เกิดอาการของลำไส้แปรปรวน โดยทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยโรคนี้ แพทย์อาจต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์ในการลดความเครียดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการมากหรือไม่ตอบสนองต่อยาเบื้องต้น ซึ่งทำให้อาการดีขึ้น
สิ่งที่ควรจำ
- โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่พบบ่อยเกิดจากการทำงานของลำไส้ใหญ่ที่ผิดปกติ ทำให้มีอาการปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายที่ผิดปกติ
- อาการเกิดตามแรงกระตุ้นในชีวิตประจำวัน ได้แก่ อาหารหลายชนิด และความเครียด
- เป็นโรคประจำตัว ไม่หายขาด แต่เป็นโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงอื่นใด ไม่เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้
- การรักษาได้แก่การใช้ยา การรักษามักใช้ระยะเวลานาน ร่วมกับการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินอาหารให้เหมาะสม และลดความเครียดในชีวิตประจำวัน