จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา พ.บ. | แพทย์สาขาโรคระบบทางเดินอาหาร
หลายคนไม่ทราบว่าก่อนจะไปหาหมอควรเตรียมตัวอย่างไร และบางครั้งเมื่อไปหาหมอ หมอเองอาจไม่เข้าใจอาการป่วย ตรวจร่างกายไม่สะดวก ตรวจเลือดไม่ได้ทันที ฯลฯ อาจเพราะเนื่องจากผู้ป่วยใส่เสื้อผ้าที่ทำให้ตรวจร่างกายได้ยาก ไม่ได้งดน้ำงดอาหารมาล่วงหน้า เป็นต้น ดังนั้นเรามาช่วยกันพิจารณาหาวิธีการเตรียมพร้อมก่อนที่จะไปหาหมอกัน
เมื่อคุณจะไปพบหมอต้องทำอย่างไรบ้าง
1.พิจารณาว่าอาการป่วยจำเป็นต้องไปหาหมอหรือไม่ ซื้อยากินเองก่อนได้ไหม? อาการบางอย่างสามารถดูแลตนเองได้ อาการบางอย่างควรหาหมอทันที ประเด็นนี้จะกล่าวต่อไป
2.เลือกหมอและเลือกสถานพยาบาล การเลือกสถานพยาบาลต่างๆ มีความหลากหลายมาก ขึ้นกับความต้องการและความสามารถของการเข้าถึง เช่น จะไปสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน บางคนอาจต้องการพบหมอทั่วไป หรืออาจต้องการพบหมอเฉพาะทาง เป็นสิทธิของคุณเอง
3.ทบทวนอาการทั้งหมดว่า คุณมีอาการไม่สบายอะไร มีรายละเอียดเท่าที่จดจำได้ เพื่อเล่าให้หมอทราบ หมอทุกคนต้องเริ่มต้นตรวจรักษาด้วยการซักประวัติ(รูปที่ 1) คำถามที่มักจะถูกถาม คือ ไม่สบายอะไรอย่างไร ให้อธิบายความรู้สึกที่เป็น หาความเกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ว่าคุณเป็นโรคอะไร เช่นถามว่า เป็นมานานแค่ไหนแล้ว เป็นบ่อยเป็นเวลาไหน ทำอะไรแล้วเป็นมากขึ้นหรือดีขึ้น มีอาการที่เกิดพร้อมกันด้วยหรือไม่ คุณสามารถเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าได้ ตัวอย่างเช่น อาการปวดท้อง หมอจะถามว่า ปวดที่ไหน ปวดแบบไหน เป็นเวลาไหน เป็นๆหายๆหรือเป็นตลอดเวลา เป็นก่อนหรือหลังอาหารมากกว่ากัน กินอาหารแล้วดีขึ้นหรือแย่ลง มีอาเจียน ไข้ ท้องเสียร่วมด้วยหรือไม่…..เป็นต้น
4.ก่อนออกจากบ้าน ให้เลือกใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อให้หมอตรวจร่างกายได้ง่ายๆ คุณผู้หญิงไม่ควรใส่เสื้อผ้าชิ้นเดียว(เช่น ชุดแสค) ควรใส่ชุดที่มีสองส่วนเพื่อให้ตรวจช่องท้องได้ง่ายเพื่อลดการถอดเสื้อผ้าทั้งตัว(จะได้ไม่โป๊เกินไป) หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นในที่รัดรูป(สเตย์) สวมรองเท้าที่คุณถอดง่ายเพราะต้องขึ้นนอนเตียงเพื่อให้หมอตรวจร่างกาย เป็นต้น
5.ทำใจให้ไม่เครียดเกินเหตุ เพราะโรคส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ร้ายแรง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ จะได้เป็นธรรมชาติของตัวคุณเวลาหมอตรวจ ถ้าเครียดเกินไปความดันของคุณอาจจะสูง หัวใจเต้นเร็วเกินไป หมออาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น เอกซ์เรย์หรือเจาะเลือด โดยไม่จำเป็น
6.ให้งดน้ำงดอาหารอย่างน้อยแปดชั่วโมงก่อนพบหมอ ทั้งนี้ ถ้าหมอให้ตรวจเลือดหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์อื่นๆ จะได้ทำได้ในวันนั้นเลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจควรงดยาเบาหวานบางตัวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลต่ำเกินไป ควรงดยาเบาหวานตามที่หมอเคยแนะนำ
7.หมออาจไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ทันทีจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ดังนั้น หมออาจจะขอให้คุณตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือ เอกซ์เรย์ เพิ่มเติม คุณควรต้องเตรียมพร้อมที่จะตรวจเพิ่มเติมด้วย
8.เมื่อพบหมอทุกครั้ง คุณต้องบอกโรคประจำตัวหรือยาที่กินประจำ ประวัติการแพ้ยา รวมทั้งอาหารเสริมสมุนไพร ยาหม้อยาจีนยาไทย ให้หมอทราบทั้งหมดเพื่อประโยชน์สูงสุดของคุณเอง
9.ในกรณีที่คุณมีความกังวลต้องการผู้ให้คำปรึกษา คุณอาจชวนคนในครอบครัว เพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ ไปเป็นเพื่อนคุณด้วย แต่ต้องเข้าใจว่าหมอต้องรักษาความลับของคุณ หมออาจจะขอให้เพื่อนคุณออกจากห้องชั่วคราวหรือถามว่าคุณจะยินยอมให้เพื่อนคุณทราบโรคที่เป็นหรือไม่
บางครั้ง คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เช่น การตรวจเอกซ์เรย์ หรือ อาจถูกปิดตาถ้ามีการรักษาโรคตา หรือได้รับยานอนหลับเช่น หลังการส่องลำไส้ใหญ่ คุณอาจฝากของมีค่าไว้กับเพื่อน หรือให้เพื่อนช่วยเหลือพากลับบ้านได้เช่นกัน
10.คุณควรเตรียมคำถามสำหรับถามหมอไว้ก่อนล่วงหน้ากันลืม คำถามที่ควรถามได้แก่ เป็นโรคอะไร มีผลต่อสุขภาพหรืออายุสั้นหรือไม่ การรักษาแบบใด มีแนวทางการรักษานอกเหนือจากที่หมอแนะนำหรือไม่ มีโอกาสหายมากน้อยเพียงใด ต้องดูแลตนเองอย่างไรเพื่อให้การรักษาได้ผลดีทีสุด ฯลฯ
11.ในขณะรับยาจากเภสัชกร ท่านควรถามเภสัชกรเพื่อเข้าใจวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เช่น กินยาเวลาก่อนหรือหลังอาหาร อาหารหรือยาอื่นๆที่ควรหลีกเลี่ยงขณะที่กินยา อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยามีอะไรบ้าง เป็นต้น
12.ให้ความสำคัญกับการนัดหมายของหมอ บ่อยครั้งที่หมอนัดให้มาดูอาการเนื่องจากโรคบางโรคอาจต้องมีการปรับยา โรคบางโรคเป็นโรคเรื้อรังต้องการการรักษาต่อเนื่อง บางครั้งหมอใช้การรักษาเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยโรค การนัดหมายจึงมีความสำคัญ
อาการอย่างไรที่ควรไปหาหมอ…
การป้องกันจะมีประโยชน์มากกว่าการรักษา เช่น การป้องกันการเกิดมะเร็ง ลดการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน การเน้นการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น คนที่ไปโรงพยาบาลส่วนหนึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ที่ไปหาหมอเพราะเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอันตรายในอนาคตที่อาจทำให้อายุสั้นลง ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อย คือ การรักษาโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งบรรดาโรคเหล่านี้มีความเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบสูงกว่าคนที่ไม่เป็นและโรคดังกล่าวมักไม่มีอาการผิดปกติ การตรวจพบโรคที่ไม่มีอาการเหล่านี้ทำได้ด้วยการตรวจร่างกายประจำปีหรือประจำวัยนั้นๆเท่านั้น
อาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย บางครั้งคิดว่าร้ายแรง แต่ไปหาหมอแล้วกลับได้รับคำตอบว่าไม่เป็นไร ในทางกลับกันหมออาจมีความเห็นตรงกันข้าม คือ อาการไม่มากแต่เป็นโรครุนแรง ดังนั้น เราควรทราบอาการที่พบบ่อยที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่อาจรุนแรง
อาการที่ควรหรือต้องไปหาหมอแบ่งออกได้เป็นอาการสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ อาการที่ไม่ฉุกเฉิน แต่อาจเป็นโรคที่เรื้อรังที่มีผลต่อสุขภาพ(รูปที่ 2) เข่น อาจเป็นอาการของโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคติดเชื้อเรื้อรั้ง เป็นต้น อีกกลุ่มคืออาการที่มีความสำคัญและฉุกเฉินที่ต้องการการรักษาทันที(รูปที่ 3) เช่น โรคหัวใจวาย โรคอัมพาต โรคติดเชื้อรุนแรง เป็นต้น
1. อาการทั่วไปที่มีความเสี่ยงอาจเป็นโรคที่มีอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต
อาการตามรูปที่ 2 คืออาการที่แสดงถึงโรคที่ไม่หายเอง และเป็นอาการเตือนให้ปรึกษาหมอ เช่นโรคที่เป็นนานกว่าสองอาทิตย์ ตัวอย่างเช่น คลำพบคล้ายก้อนที่เต้านมที่ไม่หายไปในสองอาทิตย์ ก็ควรไปพบหมอเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือมีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรไปหาหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียดว่ามีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลกระเพาะอาหาร เนื้องอกหรือมะเร็งในช่องท้องหรือไม่ หรือ น้ำหนักลดเป็นมานานกว่าหนึ่งเดือน เป็นต้น
2. อาการที่เสี่ยงเป็นโรคอันตรายที่ต้องรักษาทันที
อาการในรูปที่ 3 เป็นตัวอย่างอาการตามระบบต่างๆ ที่มีลักษณะฉุกเฉินที่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรงได้ ตัวอย่างเช่น มีอาการปวดหัวมากร่วมกับมีอาเจียนอาจแสดงถึงแรงดันในสมองสูงผิดปกติ อาจเกิดจากมีเลือดคั่งในสมอง หรือ ปวดหัวมีไข้อาจเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือ มีอาการเจ็บหน้าอกมากทันทีเหนื่อยมากโดยเฉพาะเวลาออกแรง อาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องรีบรักษา หากรักษาช้าเกินไปอาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการที่ระบุเหล่านี้เป็นเพียงอาการบางส่วนเท่านั้น มีอาการอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถนำเสนอได้หมด คุณควรพิจารณาอาการผิดปกติที่คุณอย่างรอบคอบ คำแนะนำที่ดีที่สุดคือถ้าคุณไม่แน่ใจควรหาหมอ
ตัวอย่างที่หนึ่ง
คุณเอ อายุ 47 ปี มีอาการอุจจาระเป็นเลือดสดๆ ถ่ายอุจจาระเหลวและปวดเบ่งมากผิดปกติ เป็นๆหายๆมาประมาณ 1 เดือน คุณเอสงสัยว่าตัวเองจะเป็นริดสีดวงทวาร ได้พยายามกินน้ำกินผักมากขึ้นรวมทั้งซื้อยามาเหน็บทวาร แต่ก็ไม่หาย มาหาหมอ ผลการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่พบเป็นเนื้องอกลำไส้ชนิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ทำการผ่าตัดไปอาการดีขึ้น และคุณเอจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดหลังผ่าตัด
ตัวอย่างที่สอง
คุณบี อายุ 68 ปี มีประวัติโรคเส้นเลือดหัวใจตีบกินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ มีประวัติหกล้มในห้องน้ำเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว ต่อมาเริ่มมีอาการปวดหัวมึนงงมาก อาเจียนบ่อยๆ เป็นประมาณสองอาทิตย์ มาพบหมอเพราะปวดศีรษะมากทั้งวัน หมอให้ทำการตรวจสมองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พบว่ามีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ หมอแนะนำผ่าตัดเอาเลือดออกไม่เช่นนั้นอาจมากขึ้นจนเป็นอันตรายได้ คุณบีมีอาการสบายดีหลังผ่าตัดจนทุกวันนี้
ตัวอย่างที่สาม
คุณซี มีอาการปวดหัว มีนงงศีรษะ เป็นมาสองวัน มีอาการเบื่ออาหารแต่ไม่อาเจียน มีประวัติทำงานหนัก อดนอนมาทั้งอาทิตย์ มีประวัติเคยเป็นมาแล้วทุกครั้งที่อดนอน คุณซีคิดว่าเป็นลักษณะเหมือนเดิม จึงซื้อยามากินเอง และนอนอย่างเพียงพอ สองวันต่อมาอาการก็หายดี ไม่ต้องไปพบหมอ
สาระสำคัญที่ควรทราบ
ก่อนพบหมอควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อพบหมอควรถามให้กระจ่างทุกเรื่องของอาการที่ผิดปกติ บางครั้งหมออาจต้องมีข้อมูลของอาการป่วยของคุณโดยแนะนำให้ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม หรืออาจนัดติดตามผลการรักษา ทั้งนี้ เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
การตรวจร่างกายประจำปีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในคนวัยมากกว่า 40-50 ปีขึ้นไป เป็นสิ่งจำเป็น เป็นการค้นหาความผิดปกติต่างๆ เพื่อรีบรักษาแก้ไขก่อนที่จะนำไปสู่โรคที่เป็นอันตรายในอนาคต
อาการผิดปกติที่ควรไปหาหมอ แบ่งเป็น อาการฉุกเฉินที่ต้องการรักษาทันที และ อาการที่ไม่หายนานกว่าสองอาทิตย์หรือมีน้ำหนักลดลงหรือมีอาการที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นโรคที่ต้องรักษาแต่เนิ่นๆ
อาการป่วยเล็กน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่เคยเป็นๆหายๆมานานซึ่งคุณอาจจะดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้นอาจซื้อยาจากเภสัชกร ถ้าไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องหาหมอ
————————–
รูปที่ 1 หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยของหมอ

รูปที่ 2 อาการทั่วไปที่ควรหาหมอ

รูปที่ 3
