จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา พ.บ. | แพทย์สาขาโรคระบบทางเดินอาหาร
บทนำ
คนไข้ที่เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคทั้งคนไข้ในและคนไข้นอกคือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ หรือมีสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด จากขบวนการรักษาพยาบาลคนไข้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวของโรคเองหรือกลไกการเกิดโรคนั้นๆ สิ่งนี้เรียกว่า “ความเสี่ยงทางการแพทย์”
ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลทั่วไปส่วนใหญ่มีระบบลดความเสี่ยงทางการแพทย์อยู่แล้วเพื่อรักษาให้คนไข้ปลอดภัยที่สุด ถ้าเราทำความเข้าใจและรู้จักกับความเสี่ยงทางการแพทย์เบื้องต้น จะทำให้เข้าใจความเสี่ยงดังกล่าวและยังเข้าใจระบบการทำงานของโรงพยาบาลกันมากขึ้น
ความเสี่ยงทางการแพทย์หมายถึงอะไร?
คำว่า “ความเสี่ยง” แสดงถึง สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น สิ่งที่จะเกิดนั้นมันเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ เช่น การเดินข้ามถนนก็เสี่ยงถูกรถชน การกินอาหารไม่เป็นเวลาเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะ เป็นต้น ความเสี่ยงก็คล้ายกับอุบัติเหตุนั่นเอง ถ้ามีความเสี่ยงมากแสดงว่ามีโอกาสเกิดมาก ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่ว่าเป็นความเสี่ยงชนิดไหน
ความเสี่ยงของคนไข้ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน แบ่งง่ายๆ เป็น 2 ชนิด
1.ความเสี่ยงจากโรค(Prognosis) หมายถึง ความเสี่ยงที่อาจเกิดผลที่ไม่ต้องการ เช่น พิการหรือเสียชีวิต เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง เช่น โรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากจนคนไข้เสียชีวิตได้มาก อีกตัวอย่างคือโรคตับวายเฉียบพลันมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ50 หรือ โรคเส้นเลือดสมองตีบตันมีโอกาสพิการตลอดชีวิต เป็นต้น ความเสี่ยงที่กล่าวนี้เป็นความเสี่ยงที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะพยายามช่วยไม่ให้เกิดขึ้นหรือให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
2.ความเสี่ยงทางการแพทย์(Medical risk) หมายถึง สิ่งหรือสถานการณ์ที่ไม่ดีที่อาจเกิดขึ้นจากการบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่เล็กน้อยจนเสียชีวิต ตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยๆ ได้แก่ การแพ้ยา การติดเชื้อในโรงพยาบาล หรือความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบจากยาลดไขมัน เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และส่วนใหญ่ไม่มีทางรู้ล่วงหน้า ความเสี่ยงทางการแพทย์อาจป้องกันได้ด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์และมีระบบดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสม
เนื่องจากคนไข้ทุกคนมีความเสี่ยงจากโรค บางครั้งอาจหายเองหรือเป็นมากขึ้น ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคแต่เนิ่นๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ลดความเสี่ยงจากโรค และช่วยลดความเสี่ยงทางการแพทย์ได้โดยเล่าประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียดหรือประวัติการแพ้ยาหรือภูมิแพ้ที่เคยเป็นให้แพทย์ทราบ แต่เนื่องจากความเสี่ยงทางการแพทย์เกิดน้อยกว่ามากๆ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงจากโรคแล้ว คนไข้จะได้ประโยชน์จากการรักษาพยาบาลสูงกว่าไม่รักษาแน่นอน
ความเสี่ยงทางการแพทย์เกิดแก่ใครบ้าง?
กลุ่มแรกคือ กลุ่มคนไข้ที่มาพบแพทย์ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเสี่ยงโดยตรง เพราะถ้าเกิดอะไรไม่ดีก็จะเกิดกับคนไข้มากกว่า คนไข้นอกหรือคนไข้ในโรงพยาบาลมีโอกาสเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ความเสี่ยงเหล่านี้อาจเกิดตั้งแต่ การตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การรักษา อาจมีความรุนแรงน้อยมากจนถึงมากสุดคือเสียชีวิต
กลุ่มที่สองคือ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองกรณี กรณีแรกมีความเสี่ยงต่อตัวแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ เช่น เกิดโรคติดต่อที่ติดจากการดูแลคนไข้ที่มีโรคติดต่อ อาจติดโรคร้ายแรง เช่น โควิด-19 วัณโรค ฯลฯ บางครั้งมีความรุนแรงถึงเสียชีวิต กรณีที่สอง คือเจ้าหน้าที่ทำงานพลาดทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนไข้ สาเหตุของการเกิดความเสี่ยงต่อคนไข้อาจเกิดจากการขาดทักษะในการทำงาน ขาดการพักผ่อนเพราะต้องทำงานต่อเนื่องอย่างหนัก หรือขาดการพัฒนาความรู้ความสามารถ ถ้าหากเกิดขึ้นแล้วเจ้าหน้าที่คนนั้นหรือโรงพยาบาลก็อาจถูกฟ้องเป็นคดีในศาลยุติธรรม ถูกไล่ออก หรือโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต้องจ่ายเงินชดเชย ฯลฯ
หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบความผิดพลาดของสถานพยาบาลหรือวิชาชีพด้านสุขภาพและเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนมาตรฐานวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทย์สภา สภาเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น
ต้องไม่ลืมว่าความเสี่ยงจากโรคอันตรายต่อชีวิตได้แม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
การลดความเสี่ยงของและโรงพยาบาล
ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลมีระบบหรือกระบวนการลดความเสี่ยงภายในโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนสามารถดูได้จากใบรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลที่ได้จากสถาบันคุณภาพต่างๆ เช่น สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(Hospital Accreditation) เป็นต้น หลักการทั่วไปของการลดความเสี่ยงในโรงพยาบาล ได้แก่
1.โรงพยาบาลมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลและวิธีการทำงานที่ชัดเจน เช่น แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยของแพทย์ มาตรฐานการจ่ายยาจากห้องยา มาตรฐานการลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล มาตรฐานความปลอดภัยของโรงพยาบาล เช่น ระบบการทวนชื่อคนไข้กับใบสั่งยาให้ตรงกันก่อนจ่ายยา ระบบการทำงานของพยาบาลในตึกผู้ป่วย ระบบป้องกันอุบัติเหตุในโรงพยาบาล เป็นต้น
2.โรงพยาบาลมีระบบตรวจจับการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาลที่อาจต่ำกว่ามาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เช่น มีระบบบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน มีการรายงานความผิดปกติ มีระบบตรวจหาสาเหตุของความผิดพลาด ซึ่งจะเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา และแก้ไขแนวทางการทำงานให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ให้มีการทบทวนผลการปฏิบัติงานจากรายงานการปฏิบัติงานของบุคลากรในโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขรายบุคคลหรือมีการอบรมทบทวนการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
3.มีการประเมินความรุนแรงของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและพร้อมแก้ไข ความรุนแรงของความเสี่ยงถูกแบ่งความรุนแรงออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่เป็นความผิดเล็กน้อยที่ไม่มีผลต่อคนไข้ จนสูงสุดคือคนไข้เสียชีวิต(ซึ่งเกิดน้อยมาก) และมีระบบการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้ ปัจจุบันโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานจะตรวจจับความผิดพลาดตั้งแต่ยังไม่มีผลต่อคนไข้
การลดความเสี่ยงทางการแพทย์
สิ่งเดียวที่สามารถลดความเสี่ยงทางการแพทย์ได้ดีคือการไม่ป่วย แต่ถ้าป่วยแล้วก็จำเป็นต้องพบแพทย์ ก็ควรเข้าใจเรื่องของความเสี่ยง คนไข้ควรรับทราบความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากขั้นตอนการดูแลรักษาโรค ความเข้าใจเหล่านี้จะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อตนเองได้ดีที่สุด
คำแนะนำวิธีปฏิบัติในการลดความเสี่ยงทางการแพทย์ ดังนี้
1.สิ่งแรกเลย คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการดูแลตนเองด้วยหลัก 5 อ. ได้แก่ 1)การรักษาอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอไม่เครียดง่าย 2)รับอากาศบริสุทธิ์ให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มึฝุ่นควันสูง 3)กินอาหารที่สะอาดถูกสุขลักษณะและทำอาหารกินเองดีที่สุด 4)ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอและควรออกกำลังสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที และ 5)ป้องกันอุบัติเหตุในชีวิตประจำวันด้วยความไม่ประมาท มีทั้งห้าข้อนี้อย่างสม่ำเสมอจะมีสุขภาพที่แข็งแรงและลดความเสี่ยงทางการแพทย์ได้อย่างดี
2.เมื่อเกิดมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ถ้ามีอาการไม่มาก สามารถทำงาน ได้เดิน กินอาหารได้ อาจลองสังเกตตัวเองซักสองสามวันว่าอาการจะหายได้หรือไม่ หรืออาจซื้อยาจากเภสัชกรเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ปวดหัวเล็กน้อย แน่นท้องเล็กน้อย ท้องผูก 1-2 วัน หรือ มีไข้มีน้ำมูก ฯลฯ เป็นต้น แต่ถ้าอาการเดิมไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ หรือมีอาการมากขึ้นทันทีก็สมควรไปพบแพทย์ แต่ถ้าอาการมีความรุนแรงมาก เป็นมากจนต้องนอนพัก เดินไม่ได้ ทำงานไม่ได้ กินอาหารไม่ได้ ขยับตัวไม่ได้ หายใจติดขัด ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
3.ให้เลือกปรึกษาแพทย์ที่คุ้นเคยหรือที่เชื่อถือ ทั้งนี้ขึ้นกับความสะดวกของคนไข้ ในกรณีที่ต้องการเลือกโรงพยาบาล ควรเลือกที่มีมาตรฐานหรือที่ผ่านการรับรองคุณภาพจากสถาบันรับรองต่างๆ เช่น สถาบันคุณภาพสถานพยาบาล(HA)ของไทย เป็นต้น ในกรณีที่มีอาการรุนแรงเร่งด่วน คนไข้ควรได้รับการรักษาเบื้องต้น ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน และค่อยย้ายไปโรงพยาบาลตามความต้องการต่อไป
4.ให้ความร่วมมือกับแพทย์ ให้รายละเอียดของอาการ แจ้งประวัติแพ้ยา โรคประจำตัวที่มี ยาที่กินประจำ ฯลฯ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่ดีที่สุด เมื่อได้รับยา ควรถามอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการกินยาดังกล่าวที่พบบ่อยๆ มีอะไรบ้าง และอาการอะไรที่ต้องมาพบแพทย์ทันที เช่น แพทย์สั่งยาให้คนไข้เพื่อช่วยทำให้โรคหาย ยาบางตัวอาจทำให้มีอาการที่ไม่ต้องการได้ เช่น ท้องผูก อาจทำให้ปวดหัว ปวดท้อง หรือยาบางตัวอาจทำให้มีอาการแพ้มีผื่นบ่อย อนึ่ง คนไข้ต้องกินยาตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด การกินยาไม่ถูกวิธีตามฉลากยา อาจมีผลต่อการรักษาและมีความเสี่ยงทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
5.ปัจจุบันมีวิธีการตรวจโรคที่หลากหลาย ตั้งแต่การตรวจเลือดตรวจปัสสาวะ เอกซ์เรย์ หรือการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น การตรวจด้วยเครื่องสแกนต่างๆ การตรวจหลายชนิดมีการฉีดสีซึ่งคนไข้อาจแพ้ได้ การตรวจโรคด้วยเครื่องมือสอดใส่เข้าไปในร่างกายอาจทำให้เกิดแผลภายใน หรือ การตรวจมะเร็งลำไส้ระยะแรกด้วยการส่องกล้อง คนไข้จะได้ยาฉีดให้ให้หลับขณะที่ทำการตรวจ ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องความดันหรือการหายใจ ฯลฯ การตรวจเหล่านี้อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน คนไข้ควรขอข้อมูลจากแพทย์ที่รักษาเพื่อประเมินความเสี่ยงทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นก่อนทำ ซึ่งก่อนการตรวจต่างๆ เหล่านี้แพทย์จะประเมินความเสี่ยงก่อนทำการตรวจ บ่อยครั้งแพทย์จะส่งตรวจเลือด เอกซเรย์ หรือตรวจหัวใจ ก่อนทำการตรวจ(ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโรคของคนไข้) เพื่อตรวจค้นโรคอื่นๆ ที่สามารถลดความเสี่ยงของการตรวจนั้นๆ ข้อมูลความเสี่ยงเหล่านี้คนไข้ควรหาคำตอบจากแพทย์ก่อนตัดสินใจ
6.การรักษาโรคมีหลายวิธีที่มีข้อดีข้อเสียต่างกัน โรคหลายชนิดรักษาด้วยการกินยา บางชนิดอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด บางชนิดรักษาด้วยการทำหัตถการพิเศษ เช่น ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ หรือ การสวนเส้นเลือดหัวใจ บางโรคอาจรักษาด้วยการกินยาหรือผ่าตัด หรือรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น ฉายรังสี กายภาพบำบัด เป็นต้น แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้และให้ตัดสินใจร่วมกัน คนไข้มีสิทธิ์เต็มที่ในตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา แพทย์มักเป็นผู้ให้ข้อมูลข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีก่อน และจะแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คนไข้ควรรู้ว่าผลการรักษาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง คนไข้บางคนอาจเลือกด้วยตัวเอง บางครั้งคำแนะนำของแพทย์อาจมีผลกระทบที่คนไข้อาจยอมรับไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยต้องการเลือกการผ่าตัดมากกว่าการกินยานานหลายปีเพราะไม่ชอบกินยาทั้งๆ ที่รู้ว่าการผ่าตัดมีความเสี่ยงมากกว่า เป็นต้น
7.คนไข้สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่แพทย์เล่าให้ทราบด้วยตนเอง ควรขอชื่อโรค ชื่อวิธีการตรวจ ฯลฯ เพื่อนำไปค้นหาผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ทางอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันมีการแนะนำการรักษาโรคต่างๆ ด้วยวิธีอื่นๆ ทางสื่อสังคมต่างๆ โดยที่ไม่ได้จากแพทย์ผู้รักษาคนไข้ บางครั้งการเชื่อผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เมื่อได้ทราบข้อมูลนอกเหนือหรือแตกต่างจากที่แพทย์แจ้งให้ทราบก็ควรไปปรึกษากับแพทย์เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมได้ แต่ต้องทราบว่าผู้ที่รู้ข้อมูลโรคของคนไข้ที่ดีที่สุดคือแพทย์ที่ดูแลรักษาอยู่ การปรึกษาทางอินเตอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเนื่องจากแพทย์ท่านอื่นๆ อาจไม่เข้าใจลักษณะโรคของคนไข้ชัดเจน
8. ในกรณีที่คนไข้หรือญาติต้องการความเห็นทางการแพทย์จากแพทย์คนอื่นๆ เป็นสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยในการตัดสินใจวิธีรักษา สิ่งสำคัญที่แนะนำคือให้ขอประวัติทางการแพทย์ที่มีผลการตรวจโรค เอกซ์เรย์ หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ ไปให้แพทย์ท่านอื่นให้ทราบทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากข้อมูลไม่ครบ
สรุป
ความเสี่ยงทางการแพทย์มีรายละเอียดมากมายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายอุบัติเหตุแพทย์พยาบาลรวมถึงสถานพยาบาลจะเป็นผู้ที่เข้าใจและแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆเพื่อความปลอดภัยของคนไข้อย่างไรก็ตามคนไข้ก็จำเป็นต้องรู้จักเข้าใจและช่วยกันลดความเสี่ยงดังกล่าว